20 ก.ย. 2556

การจัดทำมาตรฐานอาเซียน เพื่อรองรับ AEC


ในปี 2015 ที่อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนจะกลายเป็นเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว ซึ่งจะสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี สามารถดำเนินกระบวนการผลิตที่ไหนก็ได้ สามารถใช้ทรัพยากรจากแต่ละประเทศ ทั้งวัตถุดิบ แรงงานร่วมกันในการผลิต มีมาตรฐาน และกฎระเบียบเดียวกัน
   โดยในการเตรียมความพร้อมในส่วนของประเทศไทยที่จะก้าวสู่ AEC นั้น หลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนได้พยายามสร้างความตื่นตัวแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้พร้อมรับการการแข่งขันอย่างเสรีที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 ที่กำลังจะมาถึงไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ประกอบการจะได้รับซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกัน, การปรับปรุงการบริหารงานภายในบริษัทเพื่อให้พร้อมกับการเข้ามาแข่งขันของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้นเพื่อมิให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ, การเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารงาน และสร้างความได้เปรียบ หรือแม้กระทั่งการยกระดับการบริหารงานในด้านต่างๆ ให้มีความเป็นสากล และมีมาตรฐานซึ่งจะเป็นเสมือนกลไกในการควบคุมสินค้า และบริการภายในอาเซียน
   ดังนั้นการจัดทำมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ในระดับอาเซียนก็จะถือเป็นสิ่งสำคัญที่ จะช่วยสนับสนุนให้เปิด AEC เป็นไปอย่างมีแบบแผน และเกิดประสิทธิภาพ โดยหากคิดง่ายๆ ถ้าประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีมาตรฐานด้านโลจิสติกส์เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่เป็นมาตรฐาน มีระบบการสื่อสารและการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบเดียวกันทั้งอาเซียน รวมถึงมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายด้านโลจิสติกส์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นกรอบการดำเนินงาน และเป็นเสมือนข้อกำหนดเบื้องต้นในการทำธุรกิจร่วมกัน และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความยุ่งยากซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น
   ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานดังกล่าว ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมการค้า และการเปิด AEC ที่กำลังจะถึง ดังนั้น กพร. จึงได้มีการจัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยสู่มาตรฐานระดับสากล ซึ่งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) ได้ร่วมกับสถาบันวิทยาการ โซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้เห็นถึงความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ จึงได้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาของโครงการโดยเนื้อหาของโครงการนั้นจะศึกษามาตรฐานด้านโลจิสติกส์ด้านต่างๆ ของประเทศไทยใน 3 หมวดหมู่ได้แก่
      - มาตรฐานด้านอุปกรณ์โลจิสติกส์เพื่อการขนย้ายสินค้าข้ามพรมแดน อาทิ มาตรฐานของบรรจุภัณฑ์ในการขนส่ง, มาตรฐานของแท่นรองรับสินค้า, มาตรฐานของตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงมาตรฐานอุปกรณ์ในการขนส่งสินค้าอันตราย
      - มาตรฐานของระบบเครื่องมือสื่อสารเพื่อการจัดการข้อมูล ได้แก่ บาร์โค้ด, มาตรฐานระบบ NSW , RFID และมาตรฐานด้านฐานข้อมูลโลจิสติกส์
      - มาตรฐานด้านกฎระเบียบ/ข้อบังคับ ในการขนส่งสินค้าข้ามแดน ซึ่งจะรวมถึงกฎระเบียบทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และ กฎหมายขนส่งต่อเนื่อง (MTO) รวมถึงกฎหมายของการขนส่งสินค้าอันตราย
   โดยจะการศึกษานั้นจะพิจารณามาตรฐานโลจิสติกส์ในส่วนของประเทศไทยทั้ง 3 ด้านโดยดูว่าประเทศไทยมีมาตรฐานในด้านใดบ้าง พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลมาตรฐานโลจิสติกส์ในทั้ง 3 ด้านของประเทศในกลุ่มอาเซียน และอาเซียน+6 และเปรียบเทียบมาตรฐานทั้ง 3 ด้านของไทยกับประเทศอื่นๆ และคัดเลือกมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของไทยที่ควรปรับปรุง และจัดทำเป็นมาตรฐานนำร่อง (Pilot Standard) ที่จะนำมาจัดทำเป็นต้นแบบเพื่อเสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณากำหนดเป็นมาตรฐานของประเทศไทยต่อไป
   นอกจากนี้จะมีการจัดทำในลักษณะของฐานข้อมูลด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย (Database of International Standardization System) เพื่อให้สะดวกต่อผู้ส่งออก และนำเข้าในการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการค้าการส่งออกของไทยได้
   โดยขณะนี้ สภาผู้ส่งออกฯ และสถาบันวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลมาตรฐานในส่วนของประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน และอาเซียน+6 ซึ่งตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงานโครงการดังกล่าว คาดว่าโครงการฯ นี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน เมษายน 2555 ซึ่งหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ เชื่อว่าข้อมูลต่างๆ จะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในระดับ SMEs ที่ต้องการบุกตลาดอาเซียน และอาเซียน+6 เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ผุ้ประกอบการได้มีโอกาสตั้งรับ และพร้อมรุก สำหรับการเปิดตลาด AEC ในปี 2015 ที่กำลังจะถึง ซึ่งเชื่อว่า ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยสร้างแต้มต่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้ไม่มากก็น้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น