27 ก.ย. 2556

“Green Logistics” เทรนด์ หรือข้อจำกัดทางการค้า?


   ได้เริ่มมีบทบาทต่อกระบวนการค้า การขนส่ง และการส่งมอบสินค้า เป็นแนวโน้มของโลกในการให้ความสำคัญต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจาก การเผาผลาญพลังงานในรูปแบบต่างๆในภาคการขนส่ง รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองและไม่ คุ้มประโยชน์ กระแสของ Green Logistics เป็นการให้ความสำคัญต่อมิติการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ที่จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อน รวมถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ โดยที่กิจกรรมโลจิสติกส์จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย รวบรวม จัดเก็บ กระจายสินค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคการขนส่งไม่ว่าจะเป็นการใช้โหมดการขนส่งประเภทใด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังใช้พลังงานในรูปของน้ำมันฟอสซิล ขณะที่ภาคการผลิตได้เริ่มหันกลับไปใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น ซึ่งส่วนหนึ่งได้มีการพัฒนาไปสู่พลังงานที่ได้จากแสงแดด พลังงานลม ขณะที่ภาคขนส่งยังต้องพึ่งพิงการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะปล่อยของเสียกลับไปในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นอกจากนี้ กิจกรรมการเคลื่อนย้าย และการจัดเก็บสินค้าในภาคโลจิสติกส์ ยังเกี่ยวข้องกับการใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกว่าร้อยละ 86-88 จะอยู่ในรูปกล่องกระดาษหรือแพคเกจจิ้งที่ทำจากกระดาษ ซึ่งวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตกระดาษก็จะเป็นการใช้เยื่อไม้ ซึ่งล้วนแต่เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ    Green Logistics จึงมุ่งเน้นไปที่การนำวัสดุที่ใช้ในการบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำไป     รีไซเคิลใหม่ และพยายามหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไม้พาเลทหรือแท่นรองสินค้า ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการลำเลียงสินค้า ทั้งในคลังสินค้าและการขนส่ง ส่วนใหญ่ยังทำจากวัสดุที่เป็นไม้ ถึงแม้ว่าไม้เหล่านั้นจะมาจากการทำสวนเกษตร แต่ก็ยังเป็นการรบกวนสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดสมัยใหม่กระแสของไม้พาเลทที่ทำจากพลาสติกหรือกระดาษกำลังเริ่มได้ รับความนิยม เพราะสามารถนำกลับมา Re-Use และหรือนำกลับมา Recycle ได้อีกปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ได้เริ่มมีข้อจำกัดทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับ Green Logistics โดยเริ่มออกมาเป็นมาตรการให้ผู้นำเข้ามีความเข้มงวดในการเลือกใช้ซัพพลาย เออร์ที่มีระบบ Green Logistics ซึ่งกระแสนี้จะยิ่งมาแรงเห็นได้จากมาตรการการนำเข้าสินค้าประเภท อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ จะเริ่มมีการกำหนดให้ผู้นำเข้าจะต้องมีกระบวนการในการทำลาย หรือส่งกลับคืนซาก ให้กับประเทศที่ส่งออก ซึ่งกระบวนการโลจิสติกส์ เรียกว่า “Reverse Logistics”   ซึ่งศัพท์นี้ก็มีความหมายที่กว้างกว่านี้มาก นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มมีมาตรการรังเกียจการใช้ไม้ปิดหน้าตู้คอนเทนเนอร์และหรือการ ใช้แผ่นพาเลทที่ทำจากไม้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและอาจมีการปนเปื้อนแมลงที่ฝังอยู่ ในเนื้อไม้ ไปกระทบกับสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศออสเตรเลีย และยุโรปบางประเทศ ก็ห้ามมีการใช้วัสดุเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนยังไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการจัดการ Green Logistics มาเท่าที่ควร เห็นได้จากระบบการขนส่งของไทยเกือบร้อยละ 88 อยู่ในโหมดการขนส่งทางถนน ซึ่งมีการใช้น้ำมันสูงกว่าการขนส่งทางราง 3.5 เท่า และสูงกว่าการขนส่งทางน้ำถึง 7 เท่า ซึ่งการขนส่งทางรถไฟมีสัดส่วนอยู่เพียงร้อยละ 2 ซึ่งถือว่าต่ำมาก ส่งผลให้ต้นทุน         โลจิสติกส์ของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ซึ่งการใช้น้ำมันในภาคการขนส่ง มีปริมาณที่สูงกว่าภาคการผลิต นอกเหนือจากการที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้า น้ำมันแล้ว ยังส่งผลต่อสภาวะมลพิษทางอากาศ ยิ่งจังหวัดใดอยู่ในพื้นที่ที่เป็น HUB ของการขนส่งและกระจายสินค้า ก็จะได้รับผลกระทบมากเป็นทวีคูณ ทั้งนี้ แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการ Green Logistics จะเกี่ยวข้องกับ
1.   Eco-Drive ในการสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ของพนักงานขับรถบรรทุก เพื่อลดสภาวะการใช้น้ำมันสิ้นเปลือง และการดูแลเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ที่จะไม่ปล่อยไอเสียรบกวนสิ่งแวดล้อม
2.   Backhaul & Full Truck Load เกี่ยวข้องกับการจัดการใช้ประโยชน์จากการใช้เชื้อเพลิงให้ได้อรรถประโยชน์ สูงสุด ด้วยการลดการขนส่งเที่ยวเปล่าและการบรรทุกสินค้าให้เต็มรถ แต่ก็ต้องไม่เกินพิกัดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด เพราะการที่รถบรรทุกน้ำหนักเกินพื้นถนนรองรับได้  ก็ถือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
3.   Eco-Packaging เป็นการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการลำเลียงสินค้า ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และหรือนำกลับมารีไซเคิลในกระบวนการผลิตได้ใหม่
4.   Modal Shift การปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งไปสู่โหมดที่ประหยัดพลังงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาครัฐที่จะต้องเร่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการขนส่ง ทางราง ทางแม่น้ำ และทางชายฝั่งทะเล
ทั้งนี้ เรื่องของ Green Logistics นอกเหนือจากภาครัฐจะต้องเร่งออกกฎเกณฑ์และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการ เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางราง ในภาคเอกชนจะเกี่ยวข้องกับจิตสำนึกในการรักษาสภาวะแวดล้อม เป็นเรื่องของบรรษัทภิบาลหรือ Good Governance โดยการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เช่น การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงของรถบรรทุกเป็น NGV ซึ่งอาจจะต้องลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องหลายแสนบาท แต่ในระยะยาวก็คุ้มค่าทั้งต่อต้นทุนที่ลดลงและผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม กระแสของ Green Logistics คงจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์และภาคผู้ส่งออกจะต้องให้ความสำคัญ ซึ่งในอนาคตอันใกล้หลายประเทศจะใช้เป็นข้อจำกัดในรูปแบบของ NTB หากไม่ปรับตัวก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

20 ก.ย. 2556

การจัดทำมาตรฐานอาเซียน เพื่อรองรับ AEC


ในปี 2015 ที่อาเซียนจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนจะกลายเป็นเขตการผลิตเดียว ตลาดเดียว ซึ่งจะสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรี สามารถดำเนินกระบวนการผลิตที่ไหนก็ได้ สามารถใช้ทรัพยากรจากแต่ละประเทศ ทั้งวัตถุดิบ แรงงานร่วมกันในการผลิต มีมาตรฐาน และกฎระเบียบเดียวกัน
   โดยในการเตรียมความพร้อมในส่วนของประเทศไทยที่จะก้าวสู่ AEC นั้น หลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนได้พยายามสร้างความตื่นตัวแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้พร้อมรับการการแข่งขันอย่างเสรีที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 ที่กำลังจะมาถึงไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ประกอบการจะได้รับซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกัน, การปรับปรุงการบริหารงานภายในบริษัทเพื่อให้พร้อมกับการเข้ามาแข่งขันของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้นเพื่อมิให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ, การเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารงาน และสร้างความได้เปรียบ หรือแม้กระทั่งการยกระดับการบริหารงานในด้านต่างๆ ให้มีความเป็นสากล และมีมาตรฐานซึ่งจะเป็นเสมือนกลไกในการควบคุมสินค้า และบริการภายในอาเซียน
   ดังนั้นการจัดทำมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ในระดับอาเซียนก็จะถือเป็นสิ่งสำคัญที่ จะช่วยสนับสนุนให้เปิด AEC เป็นไปอย่างมีแบบแผน และเกิดประสิทธิภาพ โดยหากคิดง่ายๆ ถ้าประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีมาตรฐานด้านโลจิสติกส์เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่เป็นมาตรฐาน มีระบบการสื่อสารและการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบเดียวกันทั้งอาเซียน รวมถึงมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายด้านโลจิสติกส์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นกรอบการดำเนินงาน และเป็นเสมือนข้อกำหนดเบื้องต้นในการทำธุรกิจร่วมกัน และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความยุ่งยากซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น
   ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานดังกล่าว ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมการค้า และการเปิด AEC ที่กำลังจะถึง ดังนั้น กพร. จึงได้มีการจัดทำโครงการยกระดับมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยสู่มาตรฐานระดับสากล ซึ่งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) ได้ร่วมกับสถาบันวิทยาการ โซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้เห็นถึงความสำคัญในการจัดทำมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ จึงได้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาของโครงการโดยเนื้อหาของโครงการนั้นจะศึกษามาตรฐานด้านโลจิสติกส์ด้านต่างๆ ของประเทศไทยใน 3 หมวดหมู่ได้แก่
      - มาตรฐานด้านอุปกรณ์โลจิสติกส์เพื่อการขนย้ายสินค้าข้ามพรมแดน อาทิ มาตรฐานของบรรจุภัณฑ์ในการขนส่ง, มาตรฐานของแท่นรองรับสินค้า, มาตรฐานของตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงมาตรฐานอุปกรณ์ในการขนส่งสินค้าอันตราย
      - มาตรฐานของระบบเครื่องมือสื่อสารเพื่อการจัดการข้อมูล ได้แก่ บาร์โค้ด, มาตรฐานระบบ NSW , RFID และมาตรฐานด้านฐานข้อมูลโลจิสติกส์
      - มาตรฐานด้านกฎระเบียบ/ข้อบังคับ ในการขนส่งสินค้าข้ามแดน ซึ่งจะรวมถึงกฎระเบียบทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และ กฎหมายขนส่งต่อเนื่อง (MTO) รวมถึงกฎหมายของการขนส่งสินค้าอันตราย
   โดยจะการศึกษานั้นจะพิจารณามาตรฐานโลจิสติกส์ในส่วนของประเทศไทยทั้ง 3 ด้านโดยดูว่าประเทศไทยมีมาตรฐานในด้านใดบ้าง พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลมาตรฐานโลจิสติกส์ในทั้ง 3 ด้านของประเทศในกลุ่มอาเซียน และอาเซียน+6 และเปรียบเทียบมาตรฐานทั้ง 3 ด้านของไทยกับประเทศอื่นๆ และคัดเลือกมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของไทยที่ควรปรับปรุง และจัดทำเป็นมาตรฐานนำร่อง (Pilot Standard) ที่จะนำมาจัดทำเป็นต้นแบบเพื่อเสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณากำหนดเป็นมาตรฐานของประเทศไทยต่อไป
   นอกจากนี้จะมีการจัดทำในลักษณะของฐานข้อมูลด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย (Database of International Standardization System) เพื่อให้สะดวกต่อผู้ส่งออก และนำเข้าในการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการค้าการส่งออกของไทยได้
   โดยขณะนี้ สภาผู้ส่งออกฯ และสถาบันวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลมาตรฐานในส่วนของประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน และอาเซียน+6 ซึ่งตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงานโครงการดังกล่าว คาดว่าโครงการฯ นี้จะแล้วเสร็จภายในเดือน เมษายน 2555 ซึ่งหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ เชื่อว่าข้อมูลต่างๆ จะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการในระดับ SMEs ที่ต้องการบุกตลาดอาเซียน และอาเซียน+6 เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ผุ้ประกอบการได้มีโอกาสตั้งรับ และพร้อมรุก สำหรับการเปิดตลาด AEC ในปี 2015 ที่กำลังจะถึง ซึ่งเชื่อว่า ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยสร้างแต้มต่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้ไม่มากก็น้อย

10 ก.ย. 2556

เส้นทางแห่งอนาคตโลจิสติกส์


อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนเผชิญกับโอกาสและความท้าทายมากมาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง และอาจยอมให้เปิดลู่ทางใหม่ๆ ในประเทศเพื่อให้แข่งขันได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นกับบริษัทโลจิสติกส์เดิมในระดับชาติหรือแม้กระทั่งในระดับโลก
แต่บริษัทที่ตั้งมานานแล้วก็อาจได้รับประโยชน์จากความสำเร็จนี้เช่นกัน ดังเห็นได้จากกลุ่มบริษัท China Ocean Shipping ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าและโลจิสติกส์ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดของจีน และใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2554 และภายใน 6 เดือนก็สามารถขึ้นสู่อันดับที่ 4 ของโลกโดยมีปริมาณการขนส่งถึง 650,000 TEU
การขนส่งแบบบูรณาการ (Integrated Transport) เป็นกระแสที่กำลังมาแรงในจีน มีการผสมผสานเส้นทางทางทะเลและทางบกเพื่อขนถ่ายสินค้าไปยังมณฑลที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน การขนส่งจากใจกลางประเทศไปสู่เมืองท่าสำคัญก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน ต้องขอบคุณการก่อสร้างเครือข่ายถนน การขุดลอกแม่น้ำ และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นอกจากนี้ การบูรณาการเส้นทางแบบอื่นๆ ก็เริ่มมีให้เห็นเด่นชัดขึ้น ในเมืองชายฝั่งของจีนบางแห่งเริ่มมีการรวมกลุ่มผู้ซื้อโดยบริษัทโลจิสติกส์ใหญ่ๆ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมที่สุดและเพิ่มประสิทธิภาพ
วิธีการขนส่งแบบดั้งเดิมเช่นทางรถไฟหรือทางน้ำกำลังฟื้นคืนชีพในฐานะทางเลือกที่สำคัญ โดยมีการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อปรับปรุงและขยายเส้นทาง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขนส่งทางรถไฟอาจเติบโตเร็วกว่าเดิมเนื่องจากการขยายระบบรางรถไฟอย่างรวดเร็วและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รัฐบาลจีนออกนโยบายที่สนับสนุนมากขึ้นรวมทั้งมาตรการเชิงบวกเพื่อการพัฒนาการขนส่งทางรถไฟ
ข้อบังคับแห่งชาติ 8 ประการของจีนที่เพิ่งประกาศไม่นานมานี้ให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการจัดเก็บภาษีตามความเป็นจริง สิ่งนี้อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดีต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งอัตราภาษีแบบคงที่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
บริษัทโลจิสติกส์ยังอาจได้รับแรงจูงใจทางภาษีมากขึ้นจากการปรับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และหากมีการให้อัตราพิกัดศุลกากรแบบพิเศษโดยรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการส่งออก บริษัทต่างๆ จึงต้องมีความรู้และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับท้องถิ่น เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและมาตรการจูงใจต่างๆ

เป็นความจริงที่ว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในจีนถูกผลักดันจากปัจจัยที่ชาติตะวันตกไม่คุ้นเคยหรืออาจไม่ยอมรับ เช่น การแทรกแซงหรือการชี้นำโดยรัฐบาล แต่เป็นไปได้อย่างยิ่งว่านโยบายและการควบคุมดูแลของรัฐบาลจีนนั้นจะสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์อย่างเข้มแข็ง
การก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ทางรถไฟ และท่าเรือถือเป็นงานสำคัญเร่งด่วน มีการให้ทุนสนับสนุน ให้เครดิตและการออกใบอนุญาตจึงไม่แปลกใจที่บริษัทในประเทศจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ
อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างชาติก็มีโอกาสมากที่จะได้ประโยชน์จากการสนับสนุนโลจิสติกส์ของจีน เห็นชัดว่าจีนเล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตและต้องการโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งและโลจิสติกส์ระดับโลกเพื่อสนับสนุนความเจริญของประเทศ
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เงินลงทุน 700 พันล้านหยวนจะถูกจัดสรรในแต่ละปีในโครงการรถไฟตามแผนพัฒนาประเทศ 5 ปีฉบับที่ 12 ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2558 เครือข่ายถนนจะเชื่อมต่อเทศบาลทั้งหมดได้ถึงร้อยละ 90 และเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านหยวนจะถูกใช้ไปกับการพัฒนาการบิน ผลที่ตามมาคือโอกาสอันมหาศาลสำหรับบริษัทที่มีความทะเยอทะยาน มีกลยุทธ์ และมีขีดความสามารถในการดำเนินการที่แข็งแกร่งรวมทั้งมีไหวพริบในเรื่องซัพพลายเชน